รู้เรื่อง ความหมายเภสัชวัตถุ

เภสัชวัตถุ คือ วัตถุธาตุนานาชนิดที่นำมาใช้ประกอบเป็นยารักษาโรค
ตามคัมภีร์แพทย์กล่าวไว้ว่า “สรรพวัตถุต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาในโลกนี้ล้วนเกิดขึ้นแต่ธาตุ ทั้ง 4 ย่อมเป็นยารักษาโรคได้ทั้งสิ้น” ตามคำกล่าวก็อาจจะเป็นได้ แต่จะมีสรรพคุณและประโยชน์มากน้อยอย่างไรต้องสุดแล้วแต่ชนิดของวัตถุนั้นๆ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ให้ลึกซึ้งถึงรูปลักษณะ ส่วนที่ใช้ ชนิดของวัตถุธาตุอ่อนหรือแก่ เก่าหรือใหม่ สดหรือแห้ง มีคุณภาพดีหรือเลวอย่างไร เมื่อนำมาใช้แล้วจะมีสรรพคุณจริงตามตำราหรือไม่ การเอาใจใส่อย่างละเอียดและปราณีอย่างนี้ ต้องมีอยู่ประจำตัวเภสัชกรเสมอ
เภสัชวัตถุจำแนกออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
ประเภทที่ 1 – พืชวัตถุ ได้แก่ พรรณไม้ต่างๆ จำแนกออกได้เป็นพืชจำพวกต้น, พืชจำพวกเถา-เครือ,พืชจำพวกหัว-เหง้า,พืชจำพวกผัก และพืชจำพวกหญ้า ซึ่งจะต้องรู้จักส่วนต่างๆ ของพืชที่นำมาใช้เป็นยา เป็นต้นว่า ราก ,หัว,ต้น,กะพี้,แก่น,เปลือก,ใบ,ดอก,เกสร, ผล,เมล็ด ว่ามี รูป ,สี ,กลิ่น,รส และมีชื่อเรียกอย่างไร
ประเภทที่ 2 – สัตว์วัตถุ ได้แก่ ร่างกายและอวัยวะของสัตว์ทั้งหลาย จำแนกสัตว์ออกได้เป็นสัตว์บก,สัตว์น้ำ และสัตว์อากาศ ซึ่งจะต้องรู้จักส่วนต่างๆ ที่นำมาใช้เป็นยา เป็นต้นว่า ขน, เขา,เขี้ยว ,นอ ,หนัง , กราม , กรวด ,น้ำดี ,เล็บ ,กระดูก ว่าเป็นของสัตว์อะไร มีรูป ,สี ,กลิ่น ,รส และมีชื่อเรียกอย่างไร
ประเภทที่ 3 – ธาตุวัตถุ ได้แก่ แร่ธาตุต่างๆ ที่เกิดขึ้นเอง หรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุ หรือสิ่งสังเคราะห์ขึ้น จำแนกธาตุออกได้เป็นธาตุที่สลายตัวได้ง่าย และธาตุที่สลายตัวได้ยาก ซึ่งจะต้องรู้จักแร่ธาตุนั้นๆ ว่ามีรูป ,สี ,กลิ่น ,รส และมีชื่อเรียกอย่างไร
หลักในการพิจารณาตัวยา 5 ประการ
ในการที่จะรู้จักเภสัชวัตถุนั้นๆ จำเป็นต้องรู้ให้ลึกซึ้งถึงรูปลักษณะพื้นฐานของวัตถุธาตุ ซึ่งมีหลักในการพิจารณาตัวยา 5 ประการ คือ
  1. รูป คือ การรู้รูปลักษณะของตัวยานั้นว่ามีรูปร่างที่ปรากฏเป็นอย่างไร ถ้าเป็นพืชวัตถุก็ต้องรู้ว่าเป็นพืชจำพวกต้น จำพวกเถา จำพวกหัว จำพวกผักหรือหญ้าว่ามีส่วนต่างๆ เช่น ต้น ราก ใบ ดอก ผล มีรูปอย่างไร ถ้าเป็นสัตว์วัตถุก็ต้องรู้ว่าเป็นสัตว์จำพวก สัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์อากาศว่ามีอวัยวะต่างๆ เช่น ขน เขา นอ เขี้ยว กระดูกมีรูปเป็นอย่างไร ถ้าเป็นธาตุวัตถุ ก็ต้องรู้ว่าเป็นธาตุสลายตัวได้ง่าย ธาตุสลายตัวได้ยากว่า มีสถานะเป็นของแข็ง ของเหลวเป็นเกล็ด เป็นแผ่น หรือเป็นผง เป็นต้น เรียกว่า รู้จักรูปของตัวยา
  2. สี คือ การรู้สีของตัวยานั้นว่ามีสีอะไร เช่น ใบไม้มีสีเขียว กระดูกสัตว์มีสีขาวแก่นฝางมีสีแดง ยาดำมีสีดำ จุนสีมีสีเขียว กำมะถันมีสีเหลือง เป็นต้น เรียกว่ารู้จักสีของตัวยา
  3. กลิ่น คือ การรู้กลิ่นของตัวยานั้นว่ามีกลิ่นเป็นอย่างไร อย่างนี้กลิ่นหอมหรือกลิ่นเหม็น เช่น กฤษณา กำยาน อบเชย ดอกมะลิ ชะมดเช็ด อำพันทอง มีกลิ่นหอม ยาดำ กำมะถัน กระดูกสัตว์ มหาหิงคุ์ มีกลิ่นเหม็น เป็นต้น เรียกว่ารู้จักกลิ่นของตัวยา
  4. รส คือ การรู้รสของตัวยานั้นว่ามีรสเป็นอย่างไร ให้รู้ว่าอย่างนี้รสจืด รสขม รสหวาน รสเปรี้ยว รสเมาเบื่อ รสเผ็ดร้อน รสมัน รสหอมเย็น รสเค็ม หรือฝาด เช่น พริกไทย มีรสร้อน มะนาวมีรสเปรี้ยว น้ำผึ้งมีรสหวาน เป็นต้น เรียกว่ารู้จักรสของตัวยา
  5. ชื่อ คือ การรู้ชื่อของตัวยานั้นว่าเขาสมมติชื่อเรียกไว้อย่างไร เช่น สิ่งนั้นเรียกชื่อเป็นข่า กะทือ มะขาม วัว กวาง เสือ เกลือ กำมะถัน ศิลายอน เป็นต้น เรียกว่า รู้จักชื่อของตัวยา
ในหลัก 5 ประการดังกล่าวมานี้ จะเป็นข้อพิสูจน์ทำให้เรารู้ว่าเป็นตัวยาอะไร ฉะนั้นการจะรู้จักตัวยาได้นั้น จึงต้องอาศัยหลัก 5 ประการดังกล่าวนี้

ความคิดเห็น