อาหารที่ภิกษุฉันได้หลังเวลาเพล หรือ ปานะ ที่ควรรู้

อาหารที่ภิกษุฉันได้หลังเวลาเพล หรือ ปานะ ที่ควรรู้
หลายคนมักคิดว่า ภิกษุจะฉันได้แค่ก่อน เวลาเพล  (ก่อนเที่ยงวัน)  แต่จริงๆแล้ว ในพระวินัยปิฎก หมวด มหาวรรค บทที่ 6. เภสัชชขันธกะ (ว่าด้วยเรื่องยาตลอดจนเรื่องกัปปิยะอกัปปิยะ และกาลิกทั้ง 4) กล่าวไว้ว่า

 กาลิก เนื่องด้วยกาล, ขึ้นกับกาล, ของอันจะกลืนกินให้ล่วงลำคอเข้าไปซึ่งพระวินัยบัญญัติให้ภิกษุรับเก็บไว้และฉันได้ภายในเวลาที่กำหนด จำแนกเป็น 4 อย่าง คือ

  1. ยาวกาลิก  รับประเคนไว้ และ ฉันได้ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของวันนั้นเช่น ข้าว ปลา เนื้อ ผัก ผลไม้ ขนมต่างๆ
  2. ยามกาลิก รับประเคนไว้ และฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือก่อนอรุณของวันใหม่ ได้แก่ ปานะ คือ น้ำคั้นผลไม้ที่ทรงอนุญาต
  3. สัตตาหกาลิก รับประเคนไว้และฉันได้ภายในเวลา  7 วัน ได้แก่ เภสัชทั้งห้า คือ สัปปิ = เนยใส, นวนีตะ = เนยข้น, เตละ  =  น้ำมัน , มธุ  =  น้ำผึ้ง, ผาณิต  =  น้ำอ้อย
  4. ยาวชีวิก รับประเคนแล้ว ฉันได้ตลอดไปไม่จำกัดเวลา ได้แก่ของที่ใช้ปรุงเป็นยา นอกจากกาลิก 3 ข้อต้น

นอกจากนั้น ยังมีเรื่อง "เนย" ในพระไตรปิฎก มาเสริมให้อีก  เนื้อความแห่งสิกขาบทที่ 9 ในโภชนวรรค พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 2 เล่มว่า

สมัยหนึ่ง พระฉัพพัคคีย์ (กลุ่มภิกษุ 6 รูป)ออกปากขอโภชนะอันประณีตมาเพื่อตนแล้วฉัน ความทราบถึงพระพุทธเจ้า ทรงตำหนิแล้วทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า

  • " ก็ภิกษุใดออกปากขอโภชนะอันประณีตเช่นนี้ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม มาเพื่อตนแล้วฉัน ต้องอาบัติ ปาจิตตีย์ "

ต่อมามีกรณีภิกษุเป็นไข้ ไม่กล้าออกปากขอโภชนะอันประณีตมาเพื่อตนแล้วฉัน จึงไม่หายจากอาการไข้  ความทราบถึงพระพุทธเจ้า จึงทรงอนุญาตให้ออกปากขอโภชนะอันประณีตมาเพื่อตนแล้วฉันได้ ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้เป็นอนุบัญญัติว่า

  • " อนึ่ง ภิกษุไม่เป็นไข้ ออกปากขอโภชนะอันประณีตเช่นนี้ คือ เนยใส เนย ข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม มาเพื่อตนแล้วฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ "


ที่มาข้อมูล:
http://www.phrathai.net
http://www.vcharkarn.com

**************************************************************

น้ำปานะ คือ เครื่องดื่มที่คั้นจากลูกไม้ หรือ น้ำคั้นผลไม้  จัดเป็น "ยามกาลิก" คือ
ของที่พระภิกษุสงฆ์รับประเคนไว้แล้ว ฉันในช่วงหลังเที่ยงไปได้ทั้งวันทั้งคืนก่อนรุ่งเช้า

ผู้บัญญัติให้เกิดมีการดื่มน้ำปานะขึ้นเป็นท่านแรกคือ  เกณยชฎิล ปรากฏหลักฐานอยู่ในพระไตรปิฎกพระวินัย เล่มที่ 5 ข้อที่ 86 ว่า

พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตน้ำปานะ หรือน้ำดื่ม 8 ชนิดคือ

  1. น้ำปานะ ที่ทำด้วยผลมะม่วง
  2. น้ำปานะ ที่ทำด้วยผลหว้า
  3. น้ำปานะ ที่ทำด้วยผลกล้วยมีเมล็ด
  4. น้ำปานะ ที่ทำด้วยผลกล้วยไม่มีเมล็ด
  5. น้ำปานะ ที่ทำด้วยผลมะซาง
  6. น้ำปานะ ที่ทำด้วยผลจันทน์ หรือผลองุ่น
  7. น้ำปานะ ที่ทำด้วยผลเหง้าบัว
  8. น้ำปานะ ที่ทำด้วยผลมะปราง หรือผลลิ้นจี่

และทรงอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด ยกเว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก น้ำใบไม้ทุกชนิด เว้นน้ำผักดอง น้ำดอกไม้ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะซาง และทรงอนุญาตน้ำอ้อยสด

สรุปได้ว่า 
ในเวลาวิกาลพระท่านสามารถดื่มน้ำผลไม้ได้ทุกชนิด เว้นผลไม้ที่มีผลใหญ่กว่าผลมะตูม หรือผลมะขวิด

วิธีทำก็ต้องคั้นเอาแต่น้ำ และกรองให้ไม่มีกาก จะทำให้สุกด้วยแสงอาทิตย์ก็ได้ แต่ห้ามผ่านการสุกด้วยไฟ

น้ำที่ห้ามพระสงฆ์ดื่มในยามวิกาล น้ำจากมหาผล คือ  ผลไม้ใหญ่ 9 ชนิด คือ

  1. ผลตาล 
  2. ผลมะพร้าว 
  3. ผลขนุน 
  4. ผลสาเก 
  5. น้ำเต้า 
  6. ฟักเขียว 
  7. แตงไทย 
  8. แตงโม และ
  9. ฟักทอง

น้ำที่ได้จากธัญชาติ 7 ชนิด มี

  1. ข้าวสาลี 
  2. ข้าวเปลือก 
  3. หน้ากับแก้ 
  4. ข้าวละมาน 
  5. ลูกเดือย 
  6. ข้าวแดง 
  7. ข้าวฟ่าง

น้ำที่ได้จากพืชจำพวกถั่ว มีถั่วเขียว ถั่วเหลือง เป็นต้น รวมถึงน้ำนมสด ก็ไม่จัดเป็นน้ำปานะ เพราะนมสดถือเป็นโภชนะ (คืออาหาร) อันประณีต ไม่ควรดื่มในเวลาวิกาล

ส่วนโภชนะอันประณีตอีก 5 อย่าง คือ 

  1. เนยใส 
  2. เนยข้น 
  3. น้ำมัน 
  4. น้ำผึ้ง 
  5. น้ำอ้อย 

แม้จะเป็นอาหาร แต่ก็เป็นเภสัช คือ ยาด้วย พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ฉันได้ทั้งในกาลและวิกาล
คือฉันได้ไม่จำกัดเวลา

มาถึงตรงนี้แล้ว ก็เป็นอันเข้าใจได้เลยว่า ทั้งนม, น้ำเต้าหู้, นมถั่วเหลือง, โอวัลติน กาแฟ ไม่จัดว่าเป็นน้ำปานะ ฉะนั้นจะจัดน้ำปานะถวายพระก็ต้องระวังกันด้วยนะคะ

ที่มา:
เรื่องโดย : อุมัย
หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ : Buddhadasa Indapanno Archives

**************************************************************

พระฉันอะไรได้บ้าง

  1. สิ่งที่พระฉันได้เช้า-เที่ยง (ยาวกาลิก)
  2. สิ่งที่พระฉันได้ตลอดทั้งวัน (ยามกาลิก, สัตตาหกาลิก, ยาวชีวิก)
  3. สิ่งที่พระฉันไม่ได้ ห้ามแม้แต่การรับประเคน สิ่งที่พระฉันได้เช้า-เที่ยงได้กล่าวแล้วในข้อที่ว่าด้วยยาวกาลิก  กล่าวง่าย ๆ คือโภชนะ หรือภัตตาหารทั่ว ๆไป

สิ่งที่พระฉันได้ตลอดทั้งวัน (ยามกาลิก เก็บไว้ฉันวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง, สัตตาหกาลิก  เก็บไว้ฉัน ๗ วัน,  ยาวชีวิก เก็บไว้ฉันได้ตลอดชีวิต)  ท่านได้กล่าวไว้แล้วในกาลิกนั้นๆ ในที่นี้กล่าวรวม ๆ ว่าฉันได้ตลอดทั้งวัน  ตั้งแต่น้ำผลไม้ต่าง ๆ ที่ไม่มีกาก เภสัชทั้ง ๕ มีเนยใส เนยข้น  น้ำมัน  น้ำผึ้ง  น้ำอ้อย (น้ำตาล) และสิ่งที่ใช้ประกอบเป็นยา ที่นิยมใช้กันก็ได้แก่ มะขามป้อม  ผลสมอ  พริก  เกลือ กระเทียม และมีสิ่งอื่น ๆ ที่ท่านจัดเข้าในกลุ่มนี้  เช่น น้ำหวาน  น้ำอัดลม  ชา  กาแฟ  น้ำขิง ผงโกโก๊หรือช๊อกโกแล๊ตนั่นเอง (ต้องไม่มีส่วนผสมของอาหาร เช่นถั่วเป็นต้น)  หรือน้ำตาลรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นน้ำตาลหรือน้ำอ้อย ไม่มีส่วนผสมของอาหารอย่างอื่น ท่านก็อนุโลมเข้าในสิ่งที่จะพึงฉันได้ แม้ในวิกาล

ในกลุ่มที่พระสามารถฉันได้ในเวลาวิกาลนี้  อาจแยกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. ปานะหรือน้ำปานะ หมายถึงน้ำผลไม้ต่าง ๆ ที่ควรแก่พระ (ที่ไม่ควร หรือลักษณะที่ไม่ควรก็มี)  
  2. ที่เหลือนอกจากนั้นเรียกว่า เภสัช หรือ เภสัชทั้งห้า

สิ่งที่พระฉันไม่ได้ ห้ามรับประเคน  ชาวบ้านไม่ควรนำถวาย  ก็ได้แก่ เนื้อดิบทุกชนิด ปลาร้าเมื่อจะทำน้ำพริก หรือประกอบส้มตำถวายพระ ต้องทำให้สุกเสียก่อน  นอกจากนี้ยังมีเนื้อต้องห้ามอีก 10 ชนิด ได้แก่  เนื้อมนุษย์  เนื้อช้าง  เนื้อม้า  เนื้องู  เนื้อสุนัข  เนื้อหมี  เนื้อราชสีห์ (สิงโต) เนื้อเสือโคร่ง  เนื้อเสือดาว  เนื้อเสือเหลือง  เนื้อเหล่าแม้สุก ก็ห้ามนำเข้าประเคน 
บกพร่องประการใด  ผู้รู้แนะนำเพิ่มเติมได้

ที่มา:
http://buddhismarticles.com





ความคิดเห็น