ตอนที่ 1: ประวัติศาสตร์สเปน (Spain History)

ประเทศสเปน
สเปน (อังกฤษ: Spain; สเปน: España) หรือชื่อทางการคือ ราชอาณาจักรสเปน (อังกฤษ: Kingdom of Spain; สเปน: Reino de España)เป็นประเทศทางตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป ตั้งอยู่บนคาบสมุทรไอบีเรียร่วมกับโปรตุเกสและอันดอร์รา สเปนมีพรมแดนติดกับฝรั่งเศสทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตามแนวเทือกเขาพิเรนีสชนชาติต่าง ๆ ได้เข้ามามีอิทธิพลในดินแดนที่เป็นประเทศสเปนตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น เคลต์ ไอบีเรียน โรมัน วิซิกอท และมัวร์ ในยุคกลาง พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การปกครองของชาวมุสลิมเป็นเวลาอย่างน้อยห้าร้อยปี ชาวมัวร์ยังคงหลงเหลืออยู่ในคาบสมุทรไอบีเรียจนกระทั่ง

ในปี ค.ศ. 1492 (พ.ศ. 2035) ซึ่งเป็นปีที่ราชอาณาจักรคาสตีลและอารากอนสามารถขับไล่ชาวมัวร์ออกไปได้สำเร็จหลังจากเกิดกระบวนการพิชิตดินแดนคืนที่ยาวนานถึง 770 ปี และในปีเดียวกัน คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสยังได้ค้นพบโลกใหม่ นำไปสู่การกำเนิดจักรวรรดิสเปนที่แผ่ขยายไปทั่วโลก สเปนกลายเป็นประเทศที่มีอำนาจมากที่สุดในยุโรปขณะนั้น แต่สงครามที่มีอย่างต่อเนื่องและปัญหาอื่น ๆ ก็ทำให้ความยิ่งใหญ่ของประเทศลดลงไป ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 สเปนมีการปกครองระบอบเผด็จการ แต่ปัจจุบันปกครองโดยพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญและรัฐสภา ที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่มีการผ่านรัฐธรรมนูญของสเปนเมื่อปี ค.ศ. 1978 (พ.ศ. 2521)

ประเทศสเปน คริสต์ศตวรรษที่ 20
ชื่อประเทศ สเปน (Spain หรือ España) มาจากชื่อเรียกในภาษาละตินว่า ฮิสปาเนีย (Hispania)
ประวัติศาสตร์

ยุคก่อนประวัติศาสตร์และก่อนโรมัน
หลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์แรกสุดของมนุษย์วานรโฮมินิดส์ที่อาศัยอยู่ในยุโรปถูกค้นพบที่ถ้ำอาตาปวยร์กา (Atapuerca) ในสเปน ซึ่งกลายเป็นกุญแจสำคัญของการศึกษาบรรพชีวินวิทยาของโลก เนื่องจากได้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ที่มีอายุประมาณ 1 ล้านปีที่นั่นด้วย

มนุษย์สมัยใหม่พวกโครมันยองได้เริ่มเข้ามาในคาบสมุทรไอบีเรียจากทางเหนือของเทือกเขาพิเรนีสเมื่อ 35,000 ปีมาแล้ว สัญลักษณ์ที่โดดเด่นของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์คือ ภาพวาดที่มีชื่อเสียงในถ้ำอัลตามีราทางภาคเหนือ เขียนขึ้นเมื่อ 15,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช และได้รับการยกย่องร่วมกับภาพเขียนที่ปรากฏในถ้ำลาสโก ประเทศฝรั่งเศส ในฐานะตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของจิตรกรรมถ้ำ

วัฒนธรรมเมืองแรกเริ่มสุดที่ถูกอ้างถึงในเอกสารได้แก่ เมืองกึ่งโบราณทางภาคใต้ที่มีชื่อว่า (Tartessos) มีอายุประมาณก่อน1,100 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษ ชาวฟีนิเชีย กรีก และคาร์เทจที่ท่องไปตามท้องทะเลได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งตามชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนหลายครั้งและได้ตั้งอาณานิคมการค้าขึ้นที่นั่นอยู่เป็นเวลาหลายศตวรรษ

ประมาณ 1,100 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษ พ่อค้าชาวฟีนิเชียได้มาตั้งสถานีการค้าที่เมืองกาดีร์ (ปัจจุบันคือเมืองกาดิซ) ใกล้กับตาร์เตสโซส ในศตวรรษที่ 9 ก่อนคริสต์ศักราช นิคมชาวกรีกแห่งแรก ๆ เช่น เอมโพเรียน (เอมปูเรียสในปัจจุบัน) เป็นต้น เกิดขึ้นตามชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนทางตะวันออก ส่วนชายฝั่งทางใต้เป็นนิคมฟีนิเชีย

เมื่อถึง 600 ปีก่อนคริสต์ศตวรรษ ชาวคาร์เทจได้มาถึงไอบีเรียขณะที่เกิดการต่อสู้กับชาวกรีก (และชาวโรมันในเวลาต่อมา) เพื่อควบคุมบริเวณเมดิเตอร์เรเนียนตะวันตก อาณานิคมคาร์เทจที่สำคัญที่สุดคือ คาร์ทาโกโนวา (Carthago Nova) ซึ่งเป็นชื่อภาษาละตินของเมืองการ์ตาเฮนาในปัจจุบัน ชาวคาร์เทจได้ครอบครองชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนเป็นเวลาสั้น ๆ ในช่วงสงครามพิวนิก จนกระทั่งถูกชาวโรมันพิชิตและขับไล่ออกไปในที่สุด

พระเจ้าฟิลิปที่ 5 แห่งสเปน (KingJuanCarlosI)
ชนพื้นเมืองที่ชาวโรมันพบขณะที่ขยายอำนาจเข้าไปในบริเวณสเปนปัจจุบันนั้น คือพวกไอบีเรียน (Iberians) อาศัยอยู่ตั้งแต่ส่วนตะวันตกเฉียงใต้ของคาบสมุทรตลอดจนถึงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพวกเคลต์(Celts) ที่ส่วนใหญ่ตั้งหลักแหล่งอยู่ทางเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทร ส่วนทางตอนในซึ่งเป็นที่ที่ชนทั้งสองกลุ่มได้เข้ามาติดต่อกัน ได้เกิดกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมแบบผสมและเป็นลักษณะเฉพาะตัว คือ เคลติเบเรียน (Celtiberian)

คริสต์ศตวรรษที่ 20
ในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ประเทศสเปนก็ยังไม่อยู่ในความสงบเท่าใดนัก ชาวสเปนบางคนพยายามจะจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน (ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ) และผลักดันให้กษัตริย์ออกไปจากประเทศ อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ. 1936 (พ.ศ. 2479) ความขัดแย้งระหว่างชาวสเปนกลุ่มที่นิยมประชาธิปไตยกับชาวสเปนที่นิยมเผด็จการได้ก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองสเปนขึ้น จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1939 (พ.ศ. 2482) ฝ่ายนิยมประชาธิปไตยพ่ายแพ้ และผู้นำเผด็จการที่มีชื่อว่า ฟรันซิสโก ฟรังโก ก็ได้เข้ามามีอำนาจในรัฐบาล

หลังจากจอมพลฟรังโกถึงแก่อสัญกรรมในปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518)เจ้าชายควน การ์โรส (Prince Juan Carlos) ผู้เป็นพระราชนัดดาของกษัตริย์สเปนที่ถูกผลักดันให้ออกจากประเทศ ทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งสเปน จากการรับรองรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสเปน ปี ค.ศ. 1978 การเข้ามาของระบอบประชาธิปไตยได้ทำให้แคว้นบางแห่ง ได้แก่ บาสก์ และนาวาร์ ได้รับอัตตาณัติ (ความเป็นอิสระ) ทางการเงินอย่างสมบูรณ์ และแคว้นหลายแห่ง ได้แก่ บาสก์ คาเทโลเนีย กาลิเซีย และอันดาลูเซียก็ได้รับสิทธิในการปกครองตนเอง ซึ่งต่อมาก็ได้ขยายไปสู่แคว้นอื่น ๆ ในสเปนเช่นกัน ทำให้สเปนกลายเป็นเป็นประเทศที่มีการกระจายอำนาจทางการปกครองมากที่สุดในยุโรปตะวันตก แต่ในแคว้นบาสก์ยังคงมีลัทธิชาตินิยมหัวรุนแรงซึ่งสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการร้ายขององค์การเพื่อมาตุภูมิและอิสรภาพบาสก์หรือ "เอตา" (ETA) ซึ่งก่อตั้งในปี ค.ศ. 1959 ให้ก่อวินาศกรรมเพื่อแยกแคว้นนี้เป็นประเทศเอกราช อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 2011 กลุ่มนี้ก็ได้ประกาศวางอาวุธอย่างเป็นทางการ

สมเด็จพระราชาธิบดีควน การ์โลสที่ 1 แห่งสเปน
ตั้งแต่รัฐธรรมนูญสเปนฉบับปัจจุบันผ่านความเห็นชอบในปี ค.ศ. 1978 (พ.ศ. 2521) ประเทศสเปนมีนายกรัฐมนตรี (Presidentes del Gobierno) มาแล้ว 5 คน ได้แก่

นายอาดอลโฟ ซัวเรซ กอนซาเลซ (Adolfo Suárez González)
ค.ศ. 1977-1981 (พ.ศ. 2520-2524)

นายเลโอปอลโด กัลโบ โซเตโล อี บุสเตโล (Leopoldo Calvo Sotelo y Bustelo)
ค.ศ. 1981-1982 (พ.ศ. 2524-2525)

นายเฟลีเป กอนซาเลซ มาร์เกซ (Felipe González Márquez)
ค.ศ. 1982-1996 (พ.ศ. 2525-2539)

นายโคเซ มารีอา อัซนาร์ โลเปซ (José María Aznar López)
ค.ศ. 1996-2004 (พ.ศ. 2539-2547)

นายโคเซ ลุยส์ โรดรีเกซ ซาปาเตโร (José Luis Rodríguez Zapatero)
ค.ศ. 2004-2011 (พ.ศ. 2547-2554)

นายมาเรียโน ราโคย เบรย์ (Mariano Rajoy Brey) ค.ศ. 2011-ปัจจุบัน

ทุกวันนี้ สเปนเป็นประเทศประชาธิปไตยสมัยใหม่ ทำธุรกิจติดต่อค้าขายกับหลายประเทศในโลก รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป และใช้สกุลเงินยูโรในฐานะสกุลเงินประจำชาติตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2541

วัฒนธรรม
วัฒนธรรมสเปนมีรากฐานมาจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ อิทธิพลของชาวไอบีเรียนเดิมและชาวละตินในคาบสมุทรไอบีเรีย ศาสนาศริสนิกายโรมันคาทอริก ศาสนาอิสลามของชาวมัวร์ ความตึงเครียดในระหว่างการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางของแคว้นคาสตีล และชนกลุ่มน้อย นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์ของชาติ รวมทั้งสภาพทางภูมิศาสตร์และภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียนยังมีบทบาทสำคัญในการก่อร่างวัฒนธรรมสเปนด้วย

ธรรมเนียม
ในขณะที่ เซียสตา (siesta) หรือการพักจากการทำงานตอนบ่าย 1-2 ชั่วโมง (อาจจะนอนกลางวัน) กำลังลดลงโดยทั่วไป การดำเนินชีวิตใน 1 วันของชาวสเปนก็ค่อย ๆ มีความใกล้เคียงกับระเบียบของประเทศในทวีปยุโรปทั่วไปมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ร้านค้าและพิพิธภัณฑ์หลายแห่งยังคงแบ่งเวลาทำการออกเป็นสองช่วง โดยจะพักระหว่างนั้น 2-3 ชั่วโมง การเดินเล่น (paseo) ในช่วงเย็นหรือหัวค่ำยังเป็นสิ่งที่ผู้คนในเมืองเล็กหลาย ๆ เมืองกระทำกัน (รวมทั้งเมืองใหญ่ก็เช่นกัน) ส่วนเวลารับประทานอาหารเย็นก็เรียกได้ว่าช้าที่สุดในยุโรป กล่าวคือจะเริ่มรับประทานกันเวลา 21.00 น. หรือ 22.00 น. ดังนั้นชีวิตกลางคืนจึงเริ่มขึ้นช้าตามไปด้วย มีคลับเต้นรำมากมาย (แม้แต่ในเมืองเล็กบางเมือง) ที่เปิดตอนเวลาเที่ยงคืนจนถึงรุ่งเช้า

อาหาร
อาหารสเปนประกอบด้วยอาหารหลายประเภท ซึ่งเป็นผลมาจากความแตกต่างทางด้านภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม และภูมิอากาศ เช่น อาหารทะเลก็หาได้จากพื้นน้ำที่ล้อมรอบประเทศอยู่นั้น และเนื่องจากประเทศสเปนมีประวัติความเป็นมายาวนานรวมทั้งวัฒนธรรมที่แตกต่างกันซึ่งทยอยเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนนี้ อาหารสเปนจึงมีความหลากหลายอย่างยิ่ง แต่เครื่องปรุงและส่วนผสมต่าง ๆ เหล่านั้นก็ได้ประกอบกันขึ้นเป็นอาหารประจำชาติที่มีความเป็นเอกลักษณ์ พร้อมทั้งตำรับการประกอบอาหารและรสชาตินับพัน อิทธิพลส่วนมากในอาหารสเปนมาจากวัฒนธรรมยิวและมัวร์ ชาวมัวร์เป็นชาวมุสลิมจากแอฟริกาซึ่งเคยมีอำนาจปกครองสเปนอยู่หลายศตวรรษ และอาหารของชาวมัวร์ก็ยังคงมีรับประทานกันอยู่จนทุกวันนี้ ตัวอย่างอาหารสเปนที่มีชื่อเสียง เช่น
อาร์โรซเนโกร (Arroz Negro) ข้าวผัดอาหารทะเล ปรุงด้วยหมึกดำจากปลาหมึก
โกซีโด (Cocido) สตูว์เนื้อและถั่วหลากชนิด
โชรีโซ (Chorizo) ไส้กรอกรสจัด
ชูเลตียัส (Chuletillas) เนื้อแกะ (ที่เลี้ยงด้วยนม) ย่าง
กัซปาโช (Gazpacho) ซุปเย็น ประกอบด้วยขนมปังและมะเขือเทศเป็นหลัก
ฟาบาดาอัสตูเรียนา (Fabada Asturiana) สตูว์ถั่ว
คามอนเซร์ราโน (Jamón serrano) แฮมหมักบ่มเป็นปี
ปาเอยา (Paella) ข้าวผัดเนื้อหรืออาหารทะเลใส่หญ้าฝรั่นและน้ำมันมะกอก มีหลายประเภท
เปสไกย์โตฟรีโต (Pescaito Frito) เนื้อปลาหมักและนวดแล้วนำไปทอด เป็นอาหารจากเมืองมาลากาและภาคตะวันตกของแคว้อันดาลูเซียน
ตอร์ตียาเดปาตาตัส (Tortilla de patatas) หรือ ตอร์ตียาเอสปาโญลา (tortilla española ไข่เจียวใส่มันฝรั่งและหัวหอม
ตูร์รอน (Turrón) ขนมหวานมีอัลมอนด์และน้ำผึ้งเป็นส่วนประกอบ รับประทานเฉพาะในวันคริสต์มาส
กาลามารี (Calamari) ปลาหมึกทอด
ฟีเดวา (Fideuà) บะหมี่จากเมืองบาเลนเซีย
รีโอคา (Rioja) ไวน์จากแคว้นลารีโอคา
ซังกรีอา (Sangría) ไวน์พันช์

ตอร์ตียาเดปาตาตัส (Tortilla de patatas)
ซุปเย็นกัซปาโช (Gazpacho)

ดนตรี
ชิ้นงานดนตรีของสเปนได้แก่ ดนตรีคลาสสิกตะวันตกและดนตรีคลาสสิกอันดาลูเซีย รวมทั้งอุตสาหกรรมดนตรีป็อปภายในประเทศ และดนตรีชาวบ้าน (folk music) นอกจากนี้ สเปนสมัยใหม่ยังมีผู้เล่นดนตรีแนวร็อกแอนด์โรล เฮฟวีเมทัล พังก์ร็อก และฮิปฮอปเป็นจำนวนมาก

ดนตรีชาวบ้านหรือโฟล์กมิวสิกของสเปนที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดน่าจะเป็น ฟลาเมงโก (flamenco) มีต้นกำเนิดจากในแคว้นอันดาลูเซีย รูปแบบของฟลาเมงโกได้ผลิตนักดนตรีชาวสเปนที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น นักร้องกามารอน เด ลา อิสลา (Camarón de la Isla) และนักกีตาร์การ์โลส มอนโตยา (Carlos Montoya)

นักเต้นระบำชาวอัสตูเรียส
นอกจากฟลาเมงโกแล้ว ดนตรีชาวบ้านของสเปนยังมีดนตรีตรีกีตีชา (trikitixa) และแอกคอร์เดียน จากแคว้นบาสก์ดนตรีไกย์ตา (gaita - ปี่สกอตชนิดหนึ่ง) จากแคว้นกาลิเซียและอัสตูเรียส และโคตา (jota) จากแคว้นอารากอน และแม้ว่าประเพณีท้องถิ่นบางอย่างจะสูญหายไปแล้ว แต่บางอย่างก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่และได้รับการประยุกต์ดัดแปลงให้ทันสมัยเข้ากับรูปแบบและเครื่องดนตรีใหม่ ๆ เช่น ดนตรีเคลติก (Celtic music) ของกาลิเซีย นิวฟลาเมงโก (New Flamenco) เป็นต้น

ดนตรีสมัยใหม่ที่แตกต่างออกไปจากแนวพื้นบ้านเริ่มปรากฏในสเปนประมาณปี ค.ศ. 1959 (พ.ศ. 2502) จากนั้น ดนตรีพ็อปแนวเย-เย (Ye-yé) ก็เป็นที่นิยม ตามด้วยเพลงพ็อปและร็อกนำเข้าจากสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอื่น ๆ ดนตรีสเปนทุกวันนี้ประกอบด้วยวงร็อกเป็นส่วนใหญ่ เช่น เอลกันโตเดลโลโก (El Canto Del Loco) และไดเกอส์ (Dikers) ดนตรีชนิดใหม่นี้ก็กำลังติดอันดับความนิยมในหลายชาร์ตของสเปน และน่าจะเป็นเช่นนี้ไปอีกระยะหนึ่ง

ผู้แสดงระบำฟลาเมงโกที่เมืองเซวิลล์
นักเต้นระบำชาวอัสตูเรียส

กีฬา
การกีฬาในสเปน จุดเด่นที่สุดคือ กีฬาฟุตบอล (fútbol)เช่นเดียวกับชาติอื่น ๆ ทั่วไปในยุโรป โดยมีลาลีกา (La Liga)เป็นลีกสำหรับฟุตบอลอาชีพของประเทศ สโมสรฟุตบอลใหญ่อย่างเรอัลมาดริด (Real Madrid)และบาร์เซโลนา (Barcelona)จะเป็นผู้ประสบความสำเร็จสูงสุดสืบต่อกันมา อย่างไรก็ตาม ฟุตบอลทีมชาติสเปน (ซึ่งปัจจุบันมี ราอุล กอนซาเลซ (Raúl González)เป็นกัปตันทีม) ก็ยังทำผลงานได้ไม่ดีนักในฟุตบอลโลก แม้ว่าจะเคยได้ชัยชนะในการแข่งขันฟุตบอลยูโรในปี ค.ศ. 1964(พ.ศ. 2507)ก็ตาม และสเปนได้แชมป์ยูโรปครั้งล่าสุดเมื่อปี 2008ชนะทีมฟุตบอลจากประเทศเยอรมนีในรอบชิงชนะเลิศ โดยผู้ยิงประตูชันคือ เฟอร์นานโด ตอร์เรส แต่แล้ว ในปี2010ฟุตบอลทีมชาติสเปน ก็ประสบความสำเร็จในการคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก2010ที่ประเทศแอฟริกาใต้ โดยชนะทีมชาติ เนเธอร์แลนด์ 1-0จากการยิงของ อันเดรียส อีเนียสต้า นักเตะทีมบาร์เซโลน่า ซึ่งทำให้สเปน เป็นชาติที่ 8ที่เป็นแชมป์ฟุตบอลโลก ทางด้านกีฬาเทนนิสนั้น สเปนได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันเดวิสคัป (Davis Cup)ในปี ค.ศ. 2004(พ.ศ. 2547)รวมทั้งมีราฟาเอล นาดัล (Rafael Nadal)ชาวสเปนจากแคว้นแบลีแอริกอยู่ในตำแหน่งมือวางอันดับ 2 ของโลก (ก.พ. 2550)ส่วนการแข่งขันจักรยานก็เป็นกีฬาหลักเช่นกัน มีการจัดการแข่งขันจักรยานทางไกลรอบประเทศ คือ บวยล์ตาเอสปาญา (Vuelta a España)และมีเกล อินดูราอิน (Miguel Indurain) จากแคว้นนาวาร์ เป็นหนึ่งในชาวสเปนเพียงห้าคนที่คว้าชัยชนะในการแข่งขันตูร์เดอฟรองซ์ (Tour de France)ที่มีชื่อเสีย

ประวัติภาษาสเปน
ชาวโรมันจากคาบสมุทรอิตาลีได้นำภาษาละตินเข้ามาใช้บนคาบสมุทรไอบีเรียนับตั้งแต่สมัยสงครามพิวนิกครั้งที่ 2 เมื่อ 218 ปีก่อนคริสต์ศักราชภาษานี้ได้รับอิทธิพลจากภาษาของชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ก่อนแล้ว ได้แก่ภาษาเคลติเบเรียน ภาษาบาสก์ และภาษาโบราณอื่น ๆ บนคาบสมุทร เมื่อจักรวรรดิโรมันล่มสลายลงในคริสต์ศตวรรษที่ 5 การติดต่อระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ ในจักรวรรดิจึงถูกตัดขาดออกจากกัน ส่งผลให้อิทธิพลของภาษาละตินชั้นสูงที่มีต่อชาวบ้านทั่วไปค่อย ๆ ลดลง จนเหลือเพียงภาษาละตินสามัญซึ่งเป็นภาษาพูดเท่านั้นที่ทหารและชาวบ้านทั่วไปยังคงใช้สื่อสารในชีวิตประจำวันอยู่

ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 ชาวมัวร์จากแอฟริกาเหนือได้เข้ารุกรานและครอบครองคาบสมุทรไอบีเรียต่อจากชาววิซิกอท การทำสงครามเพื่อผนวกและยึดดินแดนคืนดำเนินไปอย่างยาวนาน พื้นที่บนคาบสมุทรจึงถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนโดยปริยาย ในเขตอัลอันดะลุสใช้ภาษาอาหรับและภาษาเบอร์เบอร์ แต่ก็มีผู้ใช้ภาษาโมซาราบิก (เป็นภาษาโรมานซ์ภาษาหนึ่ง แต่ได้รับอิทธิพลจากภาษาอาหรับ) อยู่ด้วย ส่วนพื้นที่ทางตอนเหนือที่ยังคงเป็นเขตอิทธิพลของชาวคริสต์นั้น ภาษาพูดละตินในท้องถิ่นต่าง ๆ ได้มีพัฒนาการทางโครงสร้างที่แตกต่างจากกันมากขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มกลายเป็นภาษาถิ่นที่มีลักษณะเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นคาตาลัน, นาวาร์-อารากอน, คาสตีล, อัสตูร์-เลออน หรือกาลิเซีย-โปรตุเกส โดยภาษาเหล่านี้มีชื่อเรียกโดยรวมว่า "โรมานซ์"

ภาษาโรมานซ์คาสตีลซึ่งเป็นหนึ่งในบรรพบุรุษของภาษาสเปนนั้นถือกำเนิดจากภาษาละตินสามัญที่ใช้กันในแถบทิวเขากันตาเบรีย (พื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างจังหวัดอาลาบา, กันตาเบรีย, บูร์โกส, โซเรีย และลารีโอคา ทางตอนเหนือของสเปนปัจจุบัน ขณะนั้นเป็นเขตของแคว้นคาสตีล) โดยรับอิทธิพลบางอย่างจากภาษาบาสก์และภาษาของชาววิซิกอท หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรเก่าแก่ที่สุดมีชื่อว่า จดหมายเหตุบัลปูเอสตา (Cartularios de Valpuesta) พบที่โบสถ์แห่งหนึ่งในจังหวัดบูร์โกส เป็นเอกสารที่บันทึกลักษณะและศัพท์ของภาษาโรมานซ์ (ที่จะพัฒนามาเป็นภาษาคาสตีล) ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 9 ไว้

ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา ได้เกิดกระบวนการกลมกลืนและปรับระดับทางภาษาขึ้นระหว่างภาษาโรมานซ์ที่ใช้กันในตอนกลางของคาบสมุทร ได้แก่ อัสตูร์-เลออน, คาสตีล และนาวาร์-อารากอน นำไปสู่การก่อรูปแบบของภาษาที่ผู้คนบนคาบสมุทรนี้จะใช้ร่วมกันต่อไป นั่นคือ ภาษาสเปน อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้เห็นด้วยกับข้อสันนิษฐานที่มีมาแต่เดิมว่า ภาษาสเปนพัฒนามาจากภาษาคาสตีลเป็นหลักและอาจจะได้รับอิทธิพลจากภาษาข้างเคียงมาบ้างเท่านั้น

เมื่อการพิชิตดินแดนคืนจากชาวมุสลิม (ที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 8) มีความคืบหน้าไปมากในยุคกลางตอนปลาย ภาษาโรมานซ์ต่าง ๆ จากทางเหนือก็ถูกนำลงมาเผยแพร่ทางตอนกลางและตอนล่างของคาบสมุทรไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะภาษาคาสตีลซึ่งเข้าไปแทนที่หรือส่งอิทธิพลต่อภาษาในท้องถิ่นต่าง ๆ และในขณะเดียวกันก็ได้ยืมศัพท์เป็นจำนวนมากจากภาษาอาหรับ และจากภาษาโมซาราบิกของชาวคริสต์และชาวยิวที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของชาวมัวร์ด้วย (แต่ภาษาเหล่านี้ได้สูญไปจากคาบสมุทรไอบีเรียตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16)

ปัจจุบันภาษาสเปนที่ใช้กันในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกมีความหลากหลายอย่างมากทั้งในด้านการออกเสียงและด้านคำศัพท์ แม้ว่าจะมีโครงสร้างหลักร่วมกันเป็นภาษาละตินก็ตาม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการติดต่อกับภาษาพื้นเมืองของแต่ละท้องที่เป็นเวลานาน เช่น ภาษาไอย์มารา, ชิบชา, กวารานี, มาปูเช, มายา ตาอีโน และตากาล็อก ทำให้ผู้ใช้ภาษาสเปนมีแนวโน้มที่จะรับเอาชุดความคิดและลักษณะที่ปรากฏในภาษาเหล่านั้นเข้ามาใช้ โดยเฉพาะคำศัพท์ ซึ่งหลายครั้งไม่เพียงมีอิทธิพลต่อภาษาสเปนในพื้นที่ที่สัมผัสภาษานั้นโดยตรงเท่านั้น แต่ยังส่งอิทธิพลต่อวงคำศัพท์ภาษาสเปนทั่วโลกด้วย
 ภาษาสเปน (อังกฤษ: Spanish; สเปน: español) หรือ ภาษาคาสตีล (อังกฤษ: Castilian; สเปน: castellano) เป็นภาษาในกลุ่มภาษาไอบีเรียนโรมานซ์หนึ่งในภาษาทางการ 6 ภาษาขององค์การสหประชาชาติ และภาษาที่มีผู้พูดเป็นภาษาแม่มากที่สุดในโลกรองจากภาษาจีนกลางรวมทั้งยังเป็นภาษาราชการขององค์การระหว่างประเทศทางเศรษฐกิจและการเมืองที่สำคัญอีกหลายองค์การอีกด้วย เช่น สหภาพยุโรป สหภาพแอฟริกาองค์การรัฐอเมริกา องค์การรัฐไอบีเรียอเมริกาข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ และสหภาพชาติอเมริกาใต้เป็นต้น

มีผู้พูดภาษาสเปนเป็นภาษาที่หนึ่งและภาษาที่สองเป็นจำนวนระหว่าง 450-500 ล้านคน โดยเม็กซิโกเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้พูดภาษานี้มากที่สุด นอกจากนี้ ภาษาสเปนยังเป็นภาษาที่มีผู้เรียนมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากภาษาอังกฤษมีผู้เรียนภาษานี้อย่างน้อย 17.8 ล้านคนขณะที่แหล่งข้อมูลบางแห่งกล่าวว่า มีผู้เรียนภาษานี้กว่า 46 ล้านคนกระจายอยู่ใน 90 ประเทศ

 ภาษาสเปนมีต้นกำเนิดจากภาษาละตินชาวบ้านที่พัฒนามาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 3 (เช่นเดียวกับภาษาอื่นในกลุ่มภาษาโรมานซ์) หลังจากจักรวรรดิโรมันล่มสลายลง ดินแดนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิต่างแยกไปอยู่ใต้การปกครองของชนกลุ่มต่าง ๆ กัน ภาษานี้จึงถูกตัดขาดออกจากภาษาถิ่นของภาษาละตินในดินแดนอื่น ๆ และมีวิวัฒนาการอย่างช้า ๆ จนเกิดเป็นภาษาละตินใหม่ต่างหากอีกภาษาหนึ่ง แต่เนื่องจากได้รับการเผยแพร่ทั้งในทวีปอเมริกาเหนือและทวีปอเมริกาใต้เป็นเวลาที่ต่อเนื่องยาวนาน ภาษาสเปนจึงกลายเป็นภาษาละตินใหม่ที่ใช้กันแพร่หลายมากที่สุดในปัจจุบัน


ความคิดเห็น