บทเรียนที่ 4: วิทยาศาสตร์ประถม3 เรื่อง การดำรงพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต

การดำรงพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต
สิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ นอกจากจะมีรูปร่างลักษณะที่แตกต่างกันแล้ว ยังมีลักษณะการดำรงชีวิตที่แตกต่างกันอีกด้วย ซึ่งลักษณะการดำรงชีวิตที่แตกต่างกันนี้ เป็นการปรับตัวเพื่อให้สามารถดำรงพันธุ์อยู่ได้ ดังนั้น การดำรงพันธุ์ คือ การทำให้เผ่าพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นๆ คงอยู่ต่อไปได้

สิ่งมีชีวิตสามารถดำรงพันธุ์อยู่ได้ เนื่องจากมีการปรับตัวให้มีลักษณะที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและต้องมีการดำรงพันธุ์ด้วยการสืบพันธุ์ เพื่อให้มีลูกหลานดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปการสืบพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต

สิ่งมีชีวิตทุกชนิด ต้องมีการสืบพันธุ์เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ไว้ โดยสิ่มีชีวิตชนิดต่างๆ มีการสืบพันธุ์ที่แตกต่างกัน บางชนิดมีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ และบางชนิดมีการสืบพันธุ์
แบบไม่อาศัยเพศ

การสืบพันธุ์ของพืช แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

  1. การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ - การสืบพันธุ์ที่ต้องมีการผสมกันระหว่างเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้และเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย โดยมีดอกทำหน้าที่เป็นอวัยวะสืบพันธุ์ ดอกของพืชส่วนใหญ่จึงมีสีสันสวยงามและมีกลิ่นหอม เพื่อล่อแมลงให้มาช่วยผสมเกสรให้พืช เซลล์สืบพันธุ์เพศผู้เรียกว่า “ละอองเรณู” ส่วนเซลล์สืบพันธุ์เพศเมียเรียกว่า “เซลล์ไข่” การที่ละอองเรณูของเพศผู้ผสมกับเซลล์ไข่ของเพศเมีย เราเรียกว่า “การปฏิสนธิ”
  2. การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ - การสืบพันธุ์โดยไม่ใช้เมล็ด แต่สามารถเจริญเติบโตได้จากส่วนต่างๆของพืช เช่น การตอน การปักชำ การต่อกิ่ง เสียบกิ่ง ทาบกิ่ง หรือ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นต้น


การสืบพันธุ์ของสัตว์ แบ่งออกเป็น  2 ประเภท คือ

  1. การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ - การสืบพันธุ์ที่ต้องมีการผสมกันระหว่างเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ คือ “เซลล์อสุจิ” และเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย คือ “เซลล์ไข่” และการที่เซลล์อสุจิของเพศผู้ผสมกับเซลล์ไข่ของเพศเมีย เรียกว่า “การปฏิสนธิ
  2. การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ - การสืบพันธุ์ที่เพิ่มจำนวนของสิ่งมีชีวิต โดยไม่มีการผสมพันธุ์กันระหว่างเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้และเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย  หรือไม่เกิดการปฏิสนธิ ได้แก่


  • การแบ่งตัว เช่น อะมีบา พารามีเซียม เป็นต้น
  • การแตกหน่อ เช่น ยีสต์ ไฮดรา เป็นต้น
  • การงอกใหม่ เช่น ดาวทะเล พลานาเรีย เป็นต้น 
การปรับปรุงพันธุ์ การผสมพันธุ์ และการตัดแต่งยีน
ในอดีตเราใช้วิธีการปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ โดยการผสมพันธุ์ระหว่างพ่อพันธุ์แลพแม่พันธุ์ที่คัดเลือกแล้ว ตลอดจนพัฒนาไปถึงการใช้พันธุ์ลูกผสม แต่ในปัจจุบันมีการคิดค้นวิธีขึ้นมาใหม่ เราเรียกว่า “การตัดแต่งยีน” เป็นการปรับปรุงพันธุ์โดยการนำยีนเด่นจากสิ่งมีชีวิตที่ต้องการไปใส่ในสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นที่มีลักษณะแข็งแรงและทนทานต่อสภาพแวดล้อม เช่น พันธุ์มะเขือเทศที่มีรสชาติอร่อยแต่ไม่สามารถต้านทานต่อโรคได้ กับพันธ์ของมะเขือเทศที่มีรสชาติไม่อร่อยแต่สามารถต้านทานโรคได้ นักวิทยาศาสตร์จึงได้ทำการใส่ยีนของมะเขือเทศที่มี

ความต้านทานโรคเข้าไปในพันธุ์ของมะเขือเทศที่อร่อย ก็จะได้พันธุ์มะเขือเทศที่มีรสชาติอร่อยและสามารถต้านทานโรคได้เช่นกัน

ดังนั้น การที่พืชหรือสัตว์จะสามารถดำรงพันธุ์ได้โดยไม่สูญพันธุ์ จะต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมให้ได้ และต้องมีการสืบพันธุ์เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไป

ปัจจัยที่มีผลต่อการดำรงพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต
การที่สิ่งมีชีวิตจะสามารถดำรงพันธุ์อยู่ได้โดยไม่สูญพันธุ์ จะต้องมีการปรับตัวให้มีลักษณะที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และสามารถดำรงชีวิตให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปให้ได้ เพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไป

ปัจจัยที่มีผลต่อการดำรงพันธุ์ของสัตว์
การดำรงพันธุ์ของสัตว์นั้นมีปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบมากกว่าพืชและซับซ้อนกว่า ดังนั้นปัจจัยที่มีผลต่อการดำรงพันธุ์ของสัตว์ คือ

1. วัฏจักรชีวิต หรือ วงจรชีวิต
โดยธรรมชาติสิ่งมีชีวิตชนิดใดมีวัฏจักรชีวิตที่สั้น จะทำให้จำนวนประชากรของสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นเพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันรวดเร็ว เช่น พวกแมลงต่างๆ และในทางกลับกัน สิ่งมีชีวิตใดที่มีวัฏจักรชีวิตที่ยาวนาน ให้กำเนิดลูกหลานช้า ทำให้มีจำนวนประชากรของสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นน้อย และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้ง่าย

2. ปริมาณการให้กำเนินลูก
สิ่งมีชีวิตที่ให้กำเนินลูกคราวละมากๆ โอกาสที่ลูกจะรอดชีวิตเจริญเติบโตจนเป็นแม่พันธุ์ให้กำเนินลูกรุ่นต่อไปก็มีมาก ช่วยให้สัตว์นั้นสามารถดำรงพันธุ์อยู่ได้

3. พฤติกรรมการกินอาหาร             
สัตว์ที่กินอาหารได้หลายอย่าง สามารถหากินอาหารได้ง่าย จึงเจริญเติบโตเต็มที่และให้กำเนิดลูกหลาน จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น สัตว์เหล่านี้จึงดำรงเผ่าพันธุ์สืบต่อกันไป                                   

4. ลักษณะโครงสร้างของสัตว์
ลักษณะโครงสร้างมีผลอย่างมากต่อการอยู่รอดของสัตว์ เพราะโครงสร้างบางอย่างช่วยให้หนีรอดจากศัตรูได้อย่างรวดเร็ว หรือโครงสร้างบางอย่างมีไว้เพื่อล่าเหยื่อเป็นอาหาร เช่น ม้ามีขาที่แข็งแรงและยาว สามารถวิ่งหนีศัตรูได้อย่างรวดเร็ว กิ้งก่ามีการปรับสีผิวให้กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม เพื่อพรางตัวในการหลบศัตรู หรือเพื่อล่าเหยื่อ หรือโครงสร้างของปีกและสีของแมลงต่างๆ ที่มักจะกลืนกับสีของดอกไม้ใบไม้ที่เกาะอยู่ ทำให้รอดพ้นจากศัตรู

ปัจจัยที่มีผลต่อการดำรงพันธุ์ของพืช
พืชก็มีการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่เช่นเดียวกับสัตว์ เพื่อให้สามารถดำรงพันธุ์ต่อไปได้ในธรรมชาติ เช่น พืชจะมีการผลัดใบในหน้าแล้ง เพื่อลดการคายน้ำเพราะ ถ้าพืชสูญเสียน้ำมากอาจจะตายได้ ต้นกระบองเพชรที่อยู่ตามทะเลทรายก็ต้องมีใบเล็กแหลมหรือที่เรียกว่าหนาม เพื่อลดการคายน้ำ ผักกระเฉดมีนวมสีขาวหุ้มลำต้นเป็นทุ่นลอยน้ำได้ หรือต้นโกงกางมีการพัฒนารากให้มีรากค้ำจุน เพื่อป้องกันลำต้นโค่นล้มเมื่อคลื่นซัด หรือมีน้ำขึ้น น้ำลง

 


ความคิดเห็น