ตอนที่ 9: พระพุทธศาสนา เรื่อง การทำความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมชาติ

เรื่อง การทำความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมชาติ 
โดย พระอาจารย์สุทธี ฐิตญาโณ วัดป่าพุทธาวาสรังสี จังหวัดร้อยเอ็ด

ธรรมชาติทั่ว ๆ ไป เป็นธรรมชาติที่ทรงความเป็นจริง หรือเป็นศาสนธรรมที่เต็มไปด้วยสัจธรรม ศาสนาจึงเป็นจริงในด้านธรรมชาตินี้เหลือเกิน ฉะนั้นการประพฤติเพื่อความรู้จริงเห็นจริงนี้จะต้องอาศัยสวากขาตธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ผู้รู้จริงเห็นจริงตามหลักความเป็นจริงตลอดถึงการประพฤติปฏิบัติจะคลาดเคลื่อนไปจากหลักธรรมของท่านไปไม่ได้

ในการปฏิบัติ วิธีปฏิบัตินี้ล่ะสำคัญสำหรับผู้ปฏิบัติจะต้องศึกษาให้เข้าใจก่อนลงมือทำคือ ฟังจากครูบาอาจารย์ผู้ท่านให้ท่านสอนนี้ให้เข้าใจเสียก่อน แล้วจึงนำมาปฏิบัติคือมีอยู่ 2 อย่าง คือ
  1. ผู้ปฏิบัติพอใจที่จะปฏิบัติอยู่ แต่ผู้สอน ๆ ไม่ถูกจุด ที่จะเป็นก็เกิดขึ้นไม่ได้
  2. ผู้สอน ๆ ตามหลัก แต่ผู้ปฏิบัติไม่ปฏิบัติตามอย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้ ต้องทั้งผู้ให้และผู้สอนก็ต้องสมดุลกัน อันนี้จะทำความรู้ความเข้าใจได้ง่ายแล้วจะได้ผลเร็ว
ความรู้ความเข้าใจทั้งหลายนี้ ผู้ปฏิบัติจะต้องเอามาจากการปฏิบัติ คือ จากธรรมที่ผู้ปฏิบัติขึ้นตามแบบของธรรมชาติ จนกว่าว่าธรรมชาติจะเกิดขึ้นมากับผู้ปฏิบัติ พร้อมด้วย สันทิฏฐิโก (ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง) ความรู้ความเข้าใจจึงจะมีขึ้น แบบธรรมนี้ท่านเรียกว่า "ธรรมเกิด" คือเกิดกับใจของผู้ปฏิบัติแล้วผู้ปฏิบัติจะดูธรรมที่เกิดภายในใจของตัวเสียก่อนว่า แตะละข้อแต่ละอย่างของธรรมที่เกิดขึ้นกับใจมีคุณค่า และรสชาติที่เป็นจริงนี้ขนาดไหนแล้ว เปลี่ยนแปลงความรู้ความเข้าใจของใจผู้ปฏิบัติออกมาแบบธรรมของท่านนี้เป็นอย่างไร

ความรู้ความเข้าใจไม่ต้องไปถามใคร ความดีความชั่ว สุขหรือทุกข์อะไรนี้ไม่ต้องไปถาม นี่สันทิฏฐิโก (ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง) เกิดขึ้นมาแล้ว เป็นอย่างนี้ไม่ต้องถามฟังแต่ว่าไม่ต้องถามก็แน่ใจของผู้ปฏิบัติเหลือเกิน แล้วผู้ปฏิบัติก็ต้องหายสงสัย นี้ท่านว่ารู้ธรรมในภาคปฏิบัติ คือ ทั้งรู้ทั้งเห็น ทั้งเป็น และทั้งหายสงสัยด้วย เพราะธรรมท่านไม่ให้สงสัย จะพิจารณาอะไรในหลักธรรมชาติแล้วจะไม่มีเลยคำว่าสงสัย
ในหน้าที่ของธรรมที่ปฏิบัติขึ้นก็เช่นเดียวกัน ในธรรมทุกข้อและหน้าที่ของธรรม เช่นอย่างธรรมบำรุงคือจะบำรุงให้ธรรมเกิดอย่างนี้ด้วยบริกรรม ถ้าผู้ปฏิบัติบำรุงมาก็ทำให้ผู้ปฏิบัติสงบ พอความสงบมีขึ้นเรื่อยก็ไปบำรุงสมาธิ สมาธิมีพลังมากก็ไปบำรุงสติปัญญา สติปัญญามีพลังเต็มที่ก็พุ่งเข้าสู่ธรรมชาติ ทุกสิ่งทุกอย่างก็เปิดเผยออกตามหลักความเป็นจริง แล้วความสมบูรณ์ในมรรคคือ ปฏิปทา (ทางดำเนิน ข้อปฏิบัติ แนวทางปฏิบัติ ความประพฤติ) ก็เกิดขึ้นกับใจของผู้ปฏิบัติธรรมทุกข้อก็ส่งผลมาบำรุงปฏิปทา คือ มรรคให้สมบูรณ์

ถ้ามรรคสมบูรณ์ ความเป็นศาสนาพร้อมด้วยการปฏิบัติก็สมบูรณ์นี่เป็นหลักการปฏิบัติด้วยปฏิปทา คือ ความพอดิบพอดี คือพอดีกับใจของผู้ปฏิบัติ

คำว่า "พอดีนี้พอดีทุกอย่าง" คือ ไม่มีบกพร่องเลย ฟังแต่ว่าพอดี คือ ความเกิดขึ้นก็พอดี ความเป็นขึ้นก็พอดี ความเห็นขึ้นก็พอดี คือ พอดีกับใจของผู้ปฏิบัตินั้นละ

จะนั่ง จะยืน จะเดิน จะนอนอยู่ในอิริยาบถใด ก็พอดีกับความเป็นธรรมคือ มัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง หมายถึง การไม่ยึดถือสุดทางทั้ง 2 ได้แก่ อัตตกิลมถานุโยค คือ การประกอบตนเองให้ลำบากเกินไป กามสุขัลลิกานุโยค คือ การพัวพันในกามในความสบาย) สมบูรณ์ขึ้น ด้วยภาคปฏิบัติ ด้วยธรรม คือ การบำรุงขึ้น เมื่อเกิดขึ้นกับใจของผู้ปฏิบัติ สันทิฏฐิโกก็อยู่ที่ใจ ธรรมทุกข้อก็อยู่ที่ใจ มัชฌิมาปฏิปทาก็อยู่ที่ใจ

นี้ท่านเรียกว่าใจถึงธรรม หรือธรรมถึงใจ ก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นใจ อะไรเป็นธรรม อะไรเป็นสุข อะไรเป็นทุกข์ คือไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ เสมือนหนึ่งว่าโลกนี้ไม่มีอะไรเลย อย่างนี้เป็นต้น

ใครจะว่าสวรรค์ นิพพาน มี ไม่มี บาปบุญ มี ไม่มี อะไรไม่สงสัย สุขทุกข์ก็หายสงสัย ดีชั่ว โลกธรรมอะไรหายสงสัยทั้งนั้น คือ อยู่อย่างไม่มีสงสัย ไปอย่างไม่มีสงสัย นี้ธรรมคือ สันทิฏฐิโกของพระพุทธเจ้า จึงทำให้พระองค์รู้แล้วหายสงสัย ทั้งคดีโลกและคดีธรรม

พระองค์จึงทรงความบริสุทธิ์ด้วยพระธรรม คือ พระศาสนา และ เป็นพระพุทธเจ้าอย่างไม่ต้องสงสัย ตั้งแต่วันพระองค์ตรัสรู้มาจนถึงปัจจุบันนี้ด้วย ธัมโมปทีโม (พระธรรมของพระศาสดา) พระธรรมที่พระองค์ตรัสรู้จึงเป็นพระธรรมที่รู้แจ้งทั้งทางโลกและทางธรรม แจ้งจนไม่มีอะไรเหนือกว่าธรรมที่มีอยู่ในสามแดน

โลกธาตุนี้ไม่มีอะไรจะยิ่งกว่าพระธรรมที่พระองค์ตรัสรู้ไว้นี้เลย ธรรมจึงกลายเป็นวิมุติธรรม คือเป็นธรรมที่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง

ผู้ใดมีความสนใจนำเอามาประพฤติปฏิบัติให้สมบูรณ์ในการปฏิบัติที่ว่ามานี้ ก็จะมีความรู้ความเห็นความเป็นได้เช่นเดียวกัน เพราะความเป็นสัจจะเป็นจริงอยู่อย่างนี้ ให้ผู้ปฏิบัติได้ชมความเป็น มัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งความเป็นธรรมพอดิบพอดีกับจิตใจของผู้ปฏิบัติ ได้เป็นสมบัติอย่างพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าตลอดถึงพระอรหัตมรรค อรหัตผล และ พระสาวกของพระพุทธเจ้าด้วยเทอญ


ความคิดเห็น