ตอนที่ 8: พระพุทธศาสนา เรื่อง วิธิการปฏิบัติกรรมฐาน (การทำสมาธิ) โดย พระอาจารย์สุทธี ฐิตญาโณ วัดป่าพุทธาวาสรังสี จังหวัดร้อยเอ็ด

เรื่อง วิธิการปฏิบัติกรรมฐาน (การทำสมาธิ)
(สันทิฏฐิโก คือ ผู้ศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมะพึงเห็นได้ด้วยตนเอง)

วิธีนั่ง
ผู้ชาย ให้นั่งขัดสมาธิ
ผู้หญิง ให้นั่งแบบท่าเทพพนม หรือ นั่งพับซอยธรรมดา

ถ้านั่งสมาธิก็ต้องนั่งขัดสมาธิ คือ เอาขาขวาทับขาซ้าย แล้วตั้งตัวให้ตรงและก็อย่าเอนหน้าเอนหลัง อย่าเอียงซ้ายเอียงขวา ตั้งตัวให้ตรงอย่างพระประธานท่านนั่ง นั่งแล้วอย่าไปเกร็งแข้งแก็งขาลำตัว อย่าไปเกร็งไปกดอะไร ร่างกายทุกส่วนให้อยู่ตามธรรมชาติของเขา และเราก็ทำความรู้อยู่ในคำบริกรรม

ผู้ปฏิบัติจะเอาอะไรมาเป็นคำบริกรรมก็ได้ คำบริกรรมที่ท่านสอนไว้ในหลักกรรมฐานมีตั้ง 40 อย่าง ผู้ปฏิบัติจะเอาอะไรก็ได้แล้วแต่จะเหมาะกับจริตนิสัย

คำว่าเหมาะกับจริตนิสัย คือ ผู้ปฏิบัตินำเอาคำบริกรรมมาทำแล้วทำง่ายสบายใจของผู้ปฏิบัติ ทำแล้วสะดวกสบายไม่ขัดข้องในการทำเอาอันนั้นแหละมาเป็นคำบริกรรม

วิธีกำหนดอยู่ในคำบริกรรมก็อย่าให้ลูกกระเดือกกระดุกกระดิก เพียงแต่ทำความรู้ รู้อยู่ในคำบริกรรมเท่านั้น

สมมติว่าผู้ปฏิบัติกำหนดเอา ลมหายใจ เป็นคำบริกรรม กำหนดดูลมที่ตรงไหน กำหนดเอาที่ดั้งจมูก เสลาออกก็อย่าตามลมไป เวลาลมเข้าก็อย่าตามลมเข้ามาให้ทำความรู้อยู่กับลมออกลมเข้าเท่านั้น นี้ถ้าหากท่านเอาลมหายใจเป็นคำบริกรรม

ถ้าไม่เอาลมก็กำหนดเอากรรมฐาน 5 เอาเกศา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ อย่างนี้ก็ได้ หรือจะกำหนดเอาอาการ 32 อย่างนี้ก็ได้ หรือจะกำหนดเอา พุทโธ ธัมโม สังโฆ อย่างนี้ก็ได้

อันนี้ไม่จำเป็น ขอให้เหมาะกับจริตนิสัยของเรา ผู้ปฏิบัติแล้วก็ให้ทำความรู้ รู้อยูกับคำบริกรรม แล้วก็อย่าส่งจิตส่งใจไปที่อื่น

สติคือผู้รู้ ให้รู้อยู่เฉพาะคำบริกรรม แล้วก็ให้ปฏิบัติอยู่อย่างนั้นเท่านี้ครูอาจารย์ท่านก็สอนให้แล้วน่ะ ให้เราผู้ปฏิบัตินำเอามาปฏิบัติเอง

ถ้าหากเราผู้ปฏิบัตินำเอามาปฏิบัติตามที่ท่านว่ามานี้ จิตของผู้ปฏิบัติก็จะสงบตัวลงสู่ธรรมะ ให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจได้ในความเป็นธรรมะ คือ ความสงบ แล้วผู้ปฏิบัติก็จะได้รู้ว่าธรรมะ คือ ความสงบนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติเห็นได้ด้วยธรรม คือ สันทิฏฐิโก คือ เกิดขึ้น เป็นขึ้น เห็นขึ้น อย่างนี้ เป็นต้น

ถ้าหากว่าธรรมไม่เกิด ความสงบไม่มี ก็ให้ไปศึกษากับท่านใหม่ หรือผู้ปฏิบัติไม่ชอบในอารมณ์ถึงไม่เป็น อย่างนี้ก็เปลี่ยนอารมณ์ใหม่มา เป็นคำบริกรรม แล้วก็ให้บำรุงอยู่ด้วยคำบริกรรมอันใหม่อยู่อย่างนั้นละนี้เฉพาะท่านั่ง

ท่ายืนหรือเดิน
ต่อไปท่าเดินจงกรม ก็ให้ตั้งใจทำความรู้อยู่กับคำบริกรรมเช่นเดียวกับวิธีนั่ง แล้วให้มีสติรู้อยู่ในคำบริกรรม อย่าส่งจิตไปโน่นมานี่ แล้วก็ทำความรู้อยู่อย่างนั้น จนกว่าจิตจะมารวมตัวเข้าสู่คำบริกรรมเป็นธรรม คือ สมถธรรม คือ ให้ความรู้กับคำบริกรรมนี้ กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กลับไปกลับมาตามเส้นทางที่กำหนดไว้ ก็แล้วแต่สถานที่และความเหมาะสมของท่านในระยะทางเดิน

วิธีเดินให้ทอดสายตาไม่ให้เกินกว่า 4 ศอก แล้วก็กำหนดไปเรื่อย ๆ ทำความรู้อยู่กับคำบริกรรมนี้

ถ้านั่งก็นั่งอย่างที่สอนมา ถ้าเดินก็เดินอย่างนี้ ถ้านอนก็นอนกับคำบริกรรมจนกว่าจะหลับ ถ้ายืนก็ให้ยืนทำความรู้อยู่กับคำบริกรรม คือ อยู่ในความสำรวมในบทธรรมได้ทุกอิริยาบถได้จะดีมาก

ปฏิบัติอยู่แบบนี้จะเป็นการสร้างธรรมขึ้นกับใจของท่าน ด้วยการบำรุงให้ธรรมเกิด บำรุงได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งเกิดได้เร็วเท่านั้น ถ้าบำรุงไปเรื่อย ๆ ทั้งกลางวัน และ กลางคืน ก็เกิดไปเรื่อย ๆ ผลสุดท้ายก็ทำไปเรื่อย ๆ จนจิตใจรวมแล้วลงสู่ความสงบ ทำให้เกิดความสงบสักวันหนึ่งจนได้

อันนี้ถ้าสงบได้ จะเห็นว่าการปฏิบัติที่ทำนี้ถูกต้อง ถ้าหากเกิดขึ้นอย่างนี้แล้ว ผู้ปฏิบัติิเห็นหรือเป็นอย่างไรนั้น ไม่ต้องไปถามใคร ถ้าเกิดขึ้นก็จะเห็นว่าเกิดขึ้นเป็นอย่างนี้ ถ้าเกิดขึ้นความเห็นก็จะเห็นขึ้นว่า ความเห็นนี้เป็นอย่างนี้ จะเห็นว่าธรรมคือ ความสงบนี้เป็นอย่างนี้ ถึงไม่เคยเป็นก็จะรู้ได้ไม่ต้องสงสัย

ความรู้ก็รู้แล้ว ความเห็นก็เห็นแล้ว ความเป็นก็เป็นแล้ว ความสงบก็สงบแล้ว ความเป็นธรรมคือความสงบนี้เป็นความดีความชั่วแค่ไหน จะเห็นได้ในทางภาคปฏิบัติ พอเกิดได้เห็นได้ ผู้ปฏิบัติจะต้องดีอกดีใจ ไม่รู้จะเอาอะไรมาพูดให้ฟัง ด้วยความดีใจในพระธรรมของท่าน รสชาติที่มีอยู่ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ดินแดนที่ได้ดื่มได้ฉัน และได้สัมผัสมา หาอะไรจะมาเปรียบมาเทียบกับพระธรรม คือ ความสงบนี้ไม่มีเลย

เท่านี้ก็จะเห็นได้ว่าธรรมของพระองค์นี้เหนือโลกแล้ว ผู้ปฏิบัติก็เข้าใจในธรรมของท่าน เป็นอย่างไรก็รู้ได้ด้วย สันทิฏฐิโก ไม่ต้องไปถามใครก็เข้าใจในความเป็นธรรมเอง แล้วความพอใจ ความดีใจความร่มเย็นเป็นสุขแก่ใจก็จะเกิดขึ้น อยากจะให้เกิดเรื่อย ๆ ก็ปฏิบัติอย่างที่ได้ปฏิบัติมานั้น ก็จะเกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ และเป็นขึ้นเรื่อย ๆ ความรู้ความเห็นก็จะรู้จะเห็นขึ้นเรื่อย ๆ ความชำนิชำนาญก็จะชำนาญไปเรื่อย ๆ ตลอดถึงความสุข ความเจริญ ก็เช่นเดียวกัน

ต่อไปก็การประพฤติปฏิบัติ จะเริ่มเข้าใจในธรรมปฏิบัติ ก็จะเริ่มเข้าใจในธรรม ก็จะเริ่มให้คุณค่าของผู้ปฏิบัติไปเรื่อย ๆ ตลอดถึง พระคุณของพระพุทธเจ้าและพระคุณของพระพุทธศาสนาด้วย แล้วก็จะเห็นธรรมชาติความเป็นจริง สัจธรรมที่เป็นจริงอยู่ตามธรรมชาติ ด้วยอำนาจของศาสนา คือ คำสอนของพระองค์ที่ทรงไว้ในธรรมชาติทั้งหลายที่มีอยู่ที่กายที่ใจของผู้ปฏิบัติ ไม่นอกเหนือไปจากกายใจนี้เลย

ต่อไปพออ่าน หรือทำความเข้าใจในศาสนธรรม ในภาคปฏิบัติ ซึ่งผู้เขียนได้เขียนไว้ตามหลักการที่ผู้เขียนได้ปฏิบัติมา คือ ยึดเอาการปฏิบัติตลอกมาจนเกิดความรู้ความเข้าใจ และได้นำเอามาเขียนด้วยความแน่ใจในข้ออรรถข้อธรรมด้วยการประสบการณ์ก็แน่ใจเช่นเดียวกัน

ผู้อ่านถ้านำเอามาประพฤติปฏิบัติ ความรู้ความเห็นและความสมหวังทุกประการก็จะเป็นของท่านผู้มุ่งสู่ความสมหวัง

อ่านต่อ
สันทิฏฐิโก สันทิฏฐิโก คือ ผู้ศึกษาธรรมะ ปฏิบัติธรรมะพึงเห็นได้ด้วยตนเอง


ความคิดเห็น